ข้อมูลจาก สุรินทร์ อินทะยศ และธนวัฒน์ พิมลจินดา (2561) การประเมินศักยภาพในการยกระดับจังหวัดจันทบุรีสู่นครแห่งอัญมณีของโลก. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์.
โมเดลจำลองครั้งในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จฯประพาสจันทบุรี "ได้มีราษฎรนำเอาผลไม้และพลอยหลากสีมาถวาย"
จังหวัดจันทบุรีได้รับฉายาว่าเป็นเมืองหลวงทางด้านอัญมณีแห่งหนึ่งของโลก โดยกิจการเหมืองอัญมณีของจังหวัดจันทบุรีเริ่มเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่พบหลักฐานในจดหมายเหตุคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2419 ความว่า "ได้มีราษฎรนำเอาผลไม้และพลอยหลากสีมาถวาย" อัญมณีที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดจันทบุรีมีหลายชนิด เช่น ไพลิน สตาร์ บุษราคัม แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ทับทิมสยาม ในบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราด ที่บ้านหนองบอน บ่อไร่ นาวง ฯลฯ ซึ่งมีชื่อเสียงมากในระดับโลก อัญมณีดังกล่าวเหล่านี้มักขุดหาจากเหมืองในบริเวณเขารอบ ๆ ตัวเมืองจันทบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณเขาพลอยแหวนและเขตตำบลบางกะจะ ซึ่งค้นพบอัญมณีเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันปริมาณอัญมณีที่ค้นพบในเขตจังหวัดจันทบุรีลดลงไปมาก ส่งผลให้ต้องนำเข้าอัญมณีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศมาดากัสการ์ในทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบให้ช่างเจียระไนพลอยในจังหวัดจันทบุรีเป็นผู้เจียระไน การซื้อขายอัญมณีในจังหวัดจันทบุรีจะทำการซื้อขายในตลาดพลอย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าจันทบุรี โดยมีผู้ซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีการคาดการณ์กันว่าใน 1 สัปดาห์มีเงินสะพัดอยู่ในตลาดพลอยประมาณ 200 - 500 ล้านบาท
ภูมิปัญญาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การเผาพลอย การคิดค้นและพัฒนาการเผาพลอยเริ่มอย่างจริงจังจากการที่มีเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดน้ำพุ เมื่อปี พ.ศ.2511 หลังจากไฟดับลงพบว่าพลอยที่อยู่ในร้านของพ่อค้าพลอยที่ถูกไฟไหม้มีสีสันสวยงามขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ คุณสามเมือง แก้วแหวน มั่นใจว่าความร้อนสามารถเพิ่มความสวยงามให้กับพลอยได้ และได้เริ่มต้นพัฒนาการเผาพลอยอย่างจริงจังนับจากนั้นเป็นต้นมา และได้เริ่มต้นพัฒนาการเผาพลอยอย่างจริงจังนับจากนั้นเป็นต้นมา ชาวจันทบุรีจึงยกย่องให้คุณสามเมืองเป็นคนแรกที่ริเริ่มการเผาพลอยของจังหวัดจันทบุรี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการลองผิดลอง ถูกควบคู่กับการศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ของกลุ่มผู้เผาพลอยเรื่อยมา การเผาพลอยถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก ทำให้พลอยมีสีสวยงามขึ้นโดยใช้ความร้อนตั้งแต่ 900-1,500 องศาเซลเซียส อาจเผาด้วยเตาแก๊ส เตาน้ำมัน เตาไฟฟ้า หรือผสมผสานกัน พลอยจะถูกนำไปใส่ในเบ้าเผาพลอยที่เป็นถ้วยเซรามิกทนความร้อนสูง นำไปใส่ในเตาแต่ละชนิด ส่วนระยะเวลาในการเผาก็ขึ้นอยู่กับชนิดของพลอย มีคำถามว่าทำไมคนจันทบุรีจึงเผาพลอยได้หลายชนิดคำตอบก็คือ ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี พ่อค้าอัญมณีชาวจันทบุรีได้ออกแสวงหาแหล่งพลอยก้อนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพลอยแดงจากพม่า พลอยน้ำเงินจากศรีลังกา รวมทั้งพลอยหลากหลายชนิดจากประเทศในแอฟริกา มาลองเผาและเจียระไน และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จันทบุรีได้รับการขนานนามว่าเป็น “นครแห่งอัญมณี”
แหล่งพลอยจันทบุรีจัดเป็นแหล่งพลอยชนิดแร่คอรันดัม (Corundum, Al2O3) ประกอบด้วยทับทิมและแซปไฟร์ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยกระบวนการทางธรณีวิทยา มีแหล่งกําเนิดมาจากหินภูเขาไฟชนิดแอลคาไลบะซอลต์ (Alkali basalt) ซึ่งเป็นแหล่งกําเนิดเพียงชนิดเดียว เท่าที่สํารวจพบ ผลศึกษาวิจัยพบหลักฐานว่า พลอยคอรันดัมไม่ได้ตกผลึกมาจากหินหนืดแอลคาไลบะซอลต์ แต่เกิดขึ้นก่อนแล้วโดยกระบวนการทางธรณีวิทยาใต้ผิวโลก จากนั้นจึงถูกนําขึ้นมาสู่พื้นผิวโลกโดยหินหนืดแอลคาไลบะซอลต์
ลักษณะของแหล่งพลอยโดยทั่วไปมักจะพบเป็นแหล่งทุติยภูมิ (Secondary deposits) ทั้งแบบที่ ผุพังอยู่กับที่ในดินบะซอลต์ (Residual basaltic soil) และแบบที่เคลื่อนย้ายออกไปสะสมที่อื่น เช่น สะสมตามบริเวณเชิงเขา เรียกว่า “แหล่งเศษหินเชิงเขา (Colluvial deposits)” สะสมตามลําห้วย ลําธารหรือทองคลองเรียกว่า “แหล่งตะกอนน้ำพา (Alluvial deposits)” หรือ สะสมตัว ตามบริเวณที่ราบลุ่มซึ่งเรียกว่า “แหล่งลานแร่ (Placer deposits)”
แผนที่แสดงการกระจายตัวแหล่งอัญมณีในเขตจังหวัดจันทบุรี-ตราดและเมืองไพลิน กัมพูชา
เขตจังหวัดจันทบุรี มีแหล่งพลอยทับทิม–แซปไฟร์ พบได้ 4 พื้นที่ ดังนี้
(1) แหล่งพลอยเขาวัว ในเขตอําเภอท่าใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 5.55 ตาราง กิโลเมตร ส่วนใหญ่พบพลอยสะสมตัวในชั้นดินบะซอลต์และหินบะซอลต์ผุ ยกเว้นบริเวณโดยรอบเขาที่พบพลอยสะสมตัวร่วมกับตะกอนน้ำพา ปัจจุบันแม้ไม่มีการอนุญาตประทานบัตรการทําเหมืองแร่รัตนชาติ แต่ยังสามารถพบพลอยได้บ้างจากการเปิดหน้าดิน หรือจากการล่าง คัด แยก ทรายกรวด ในพื้นที่ แต่เป็นปริมาณไม่มากดังอดีต อีกทั้งพลอยที่พบมักมีขนาดเล็ก
(2) แหล่งพลอยเขาพลอยแหวน ในเขตอําเภอท่าใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 20.48 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่พบสะสมตัวอยู่ในชั้นดินบะซอลต์และหินบะซอลต์ผุ ยกเว้นบริเวณโดยรอบเขาที่พบสะสมตัวร่วมกับตะกอนน้ำพาเช่นเดียวกับแหล่งเขาวัว ปัจจุบันแม้ไม่มีการอนุญาตประทานบัตรการทําเหมืองแร่รัตนชาติ แต่ยังสามารถพบพลอยได้บ้างจากการเปิดหน้าดิน หรือจากการ ล่าง คัด แยก ทรายกรวดในพื้นที่ แต่ปริมาณไม่มากเช่นในอดีต อีกทั้งพลอยที่พบมักมี ขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามบริเวณเขาพลอยแหวนยังมีพื้นที่บางส่วนที่ยังไม่ผ่านการทําเหมือง เนื่องจาก ใช่เพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยและการเกษตร จึงไม่สามารถพิสูจน์ทราบปริมาณแร่พลอยในบริเวณดังกล่าวได้
(3) แหล่งพลอยคลองเครือหวาย ในเขตอําเภอโป่งน้ำร้อน ครอบคลุมพื้นที่ 6.69 ตารางกิโลเมตร เป็น แหล่งพลอยที่พบสะสมตัวอยู่ในชั้นดินบะซอลต์และหินบะซอลต์ผุ ยกเว้นบริเวณโดยรอบเขาที่พบพลอยสะสมตัวร่วมกับตะกอนน้ำพาที่ไหลลงสู่คลองเครือหวาย ลักษณะเดียวกับเขาวัวและเขาพลอยแหวน พลอยที่พบ ได้แก่ แซปไฟร์สีต่างๆ ทับทิม โกเมน นิลตะโก เพทาย ปัจจุบันหลงเหลือให้พบได้น้อยมาก อาจพบได้บ้างในคลองเครือหวาย
(4) แหล่งพลอยอําเภอขลุง ต่อเนื่องกับแหล่งพลอยในเขตอําเภอเขาสมิง จังหวัดตราด มีพื้นที่ 86.71 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ประทานบัตรเหมืองพลอยและบ่อพลอยเก่าแก่ และพื้นที่บางส่วนที่ยังไม่ผ่านการทําเหมือง ส่วนใหญ่เป็นแหล่งพลอยที่พบสะสมตัวอยู่ในชั้นดินบะซอลต์และหินบะซอลต์ผุ ยกเว้นบริเวณโดยรอบเขาที่พบพลอยสะสมตัวร่วมกับตะกอนน้ำพา เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตเกษตรกรรม เขตที่อยู่อาศัย และพื้นที่หวงห้ามต่างๆ อีกทั้งพลอยที่หลงเหลืออยู่มีค่าความสมบูรณ์ต่ำมากจึงไม่สามารถคํานวณปริมาณสํารองของพลอยทั้งพื้นที่ได้ ยกเว้นบริเวณบ้านลําอ่อน คลอบคลุมพื้นที่ 1.15 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นแหล่งพลอยแบบสะสมตัวในชั้นดินบะซอลต์และหินบะซอลต์ผุตั้งแต่ระดับผิวดินจนถึงหินดานชนิดหินทรายเกรย์แวกที่อยู่ลึกลงไป ประมาณ 9 เมตร ช่วงชั้นที่พบพลอยหนาประมาณ 3 เมตร และแหล่งพลอยแบบสะสมตัวร่วมกับ ตะกอนน้ำพา ที่ความลึกจากผิวดิน 9–11 เมตร ความหนาของชั้นกะสะพลอย 1–2 เมตร บางบริเวณ พบชั้นพลอยแบบสะสมตัวร่วมกับตะกอนน้ำพานี้อยู่ใต้ชั้นพลอยแบบแรก ปริมาณสํารองรวมทั้งสิ้น 2,875.93 กิโลกรัม (กรมทรัพยากรธรณี)
แหล่งแซปไฟร์จันทบุรีและตราด ปริมาณของแซปไฟร์ ที่ได้จากจังหวัดจันทบุรีและตราดมีจำนวนน้อยกว่าที่ได้จากแหล่งบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี แซปไฟร์จากแหล่งนี้มีสีน้ำเงิน เหลือง เขียวและ สตาร์แซปไฟร์สีดำ แซปไฟร์สีเหลืองจากบางกะจะและเขาพลอยแหวนได้ชื่อว่ามีสีเหลืองวิสกี้แม่โขง (Mekong whisky) และ แซปไฟร์ที่มีสตาร์สีดำและสีทอง (golden star, black star sapphire) สำหรับแซปไฟร์สีน้ำเงินที่พบในแหล่งนี้มีมลทินคล้ายกับที่พบในแหล่งแซปไฟร์สีน้ำเงิน เมืองไพลิน ซึ่งอยู่ในประเทศกัมพูชา
พลอยก้อนจากจันทบุรีก่อนเจียระไนเป็นพลอยสตาร์
สตาร์แซปไฟร์สีดำ (black star sapphire) จากจันทบุร
สตาร์แซปไฟร์สีทอง (golden star sapphire) จากจันทบุรี
บุษราคัมสีเหลืองวิสกี้แม่โขงจากจันทบุรี
พลอยเขียวส่อง จันทบุร
ไพลินจากจันทบุรี
แซปไฟร์สีน้ำเงินจากแหล่งนี้อาจมีลักษณะขุ่นขาวเล็กน้อยเนื่องมาจากมลทิน exsolved particles พบ secondary healing fissures และ polysynthetic twinning พร้อม ด้วย boehmite needles จะเห็น growth zoning ในรูป hexagonal ได้ชัดเจนและพบแถบสีน้ำเงิน เรียงตัวขนานกับแกนยาวของผลึก มลทินผลึกที่สำคัญแต่พบได้ยาก ได้แก่ มลทินสีแดงและส้มรูปทรง octahedron ของผลึกของแร่ยูเรเนียม (pyrochlore) ที่หาได้ยาก ซึ่งโดยรอบจะมี fingerprints ที่มี stains สีเหลืองล้อมรอบ
แซปไฟร์สีเขียวจะเห็นแถบสีเขียวแกมเหลืองและน้ำเงินสลับส่วนในแซปไฟร์สีเหลืองก็จะเห็นแถบสีเหลืองและเขียว ผลึกของแซปไฟร์สีเหลืองส่วนใหญ่เป็นผลึกแบนและบาง (tabular and thin) และมีแถบสีเขียวอยู่ส่วนบนและล่างของ pinacoid faces แถบสีเหลืองของ แซปไฟร์ชนิดนี้จะพบขนานกับ basal pinacoid ซึ่งหาได้ยากมากและอาจพบขนานกับแกนยาวของผลึกด้วย
แซปไฟร์สีเหลือง มักพบ polysynthetic twinning ร่วมกับ boehmite needles และมักจะพบว่ามี parting ในพลอยจากแหล่งนี้โดยเฉพาะใน แซปไฟร์ที่มีสตาร์สีดำเนื่องจากมลทิน silk
ศูนย์สาธิตและแหล่งเรียนรู้พลอยแหวน ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่เชิงเขาพลอยแหวน ดำเนินงานโดยนายสำราญ รัตนเกียรติ ชาวบ้านพื้นที่หมู่ 4 ต.พลอยแหวน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้สามารถเข้ามาศึกษาวิธีการขุดพลอย คัดแยกพลอยด้วยตัวเองได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ที่ยังเห็นเป็นวัตถุดิบหรือพลอยก้อนในพื้นที่จริง จะใช้วิธีนำเครื่องจักรขนาดใหญ่มาขุดเอาดินที่มีพลอยปะปนมากองเป็นลักษณะภูเขา และจึงทำการฉีดน้ำไล่ลงมา ซึ่งก็จะไหลลงในอุปกรณ์คัดแต่ง หรือที่ที่พื้นบ้าน ชาวจันทบุรี เรียกว่า “แย็ก” จากนั้นจึงนำมาทำการคัดแยกพลอยออกจากกรวดและดิน พลอยที่พบ เช่น พลอยสตาร์ บุษราคัม โกเมน และพลอยเขียวส่อง เป็นต้น
คุณสำราญ รัตนเกียรติ เจ้าของ “ศูนย์สาธิตและแหล่งเรียนรู้พลอยแหวน”
การคัดแยกพลอยออกจากกรวดและดินด้วยเครื่อง“แย็ก”
พลอยเขียวส่องที่ได้จากเหมืองพลอยบริเวณเขาพลอยแหวน
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจังหวัดจันทบุรี โดยมีจุดขายที่ตลาดพลอยหรือถนนอัญมณี เป็นตลาดการซื้อขายพลอยในจันทบุรีโด่งดังและมีชื่อเสียงกว้างไกลในระดับโลก และเป็นตลาดการค้าพลอยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะเป็นศูนย์รวมการค้าพลอยแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ผู้ที่สนใจซื้อเครื่องประดับ หรือต้องการเห็นบรรยากาศการซื้อขายพลอยว่าทำกันยังไง สามารถเดินชมการซื้อขาย หรือแวะซื้อพลอยได้ ซึ่งตลาดการค้าพลอยจะค่อนข้างคึกคักในช่วงสุดสัปดาห์ เดินชมตลาดพลอยแล้ว ยังเดินต่อเนื่องไปยังชุมชนริมน้ำจันทบูร และวัดคาทอลิกจันทบุรี (อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล)ได้ไม่ไกลนัก
จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้พัฒนาจังหวัดจันทบุรีเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโลก ในปี พ.ศ. 2550 เป็นศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกำเนิด ขั้นตอนการผลิตอัญมณี เช่น การเผา การเจียระไน การนำพลอยมาแปรรูปออกแบบเป็นเครื่องประดับ ตลอดจนวิธีการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้ได้มาตรฐาน ตั้งอยู่ที่ 1/29 ถ.มหาราช ต.ตลาด อ.เมือง จ.จันทบุรี เปิดบริการ 09.00 น. - 17.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เป็นพิพิธภัณฑ์อัญมณีที่มีการนำเสนอแบบ Live Museum นักท่องเที่ยวจะมีส่วนร่วมเรียนรู้ด้วยตนเอง มีนิทรรศการสามมิติที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของอัญมณีอันทรงคุณค่า เริ่มตั้งแต่การขุดหา อัญมณีจากแหล่งต่างๆ ผ่านขั้นตอนการผลิตและแปรรูป จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ล้ำค่าที่จัดแสดงไว้ให้ได้รับชมอยู่โดยรอบ บริเวณด้านหน้าแสดงปฏิมากรรมรูปปั้นโลหะเป็นรูปคนงานกำลังทำงานในเหมืองพลอย บริเวณโถงทางเข้าด้านล่างแสดงข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดจันทบุรี บริเวณโถงทางเข้าด้านบนโมเดลจำลองครั้งในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จฯประพาสจันทบุรี บริเวณชุมชนริมแม่น้ำจันท์
ปฎิมากรรมรูปปั้นโลหะเป็นรูปคนงานกำลังทำงานในเหมืองพลอยบริเวณด้านหน้าศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี
รูปพื้นที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมในจังหวัดจันทบุรี (ภาพ: www.cga.or.th)
รูปโมเดลจำลองครั้งในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จฯประพาสจันทบุรี
ภายในศูนย์ประกอบไปด้วยห้องจัดแสดงต่าง ๆ ห้องแรก แสดงข้อมูลเกี่ยวกับอัญมณีและแสดงตัวอย่างแร่ที่เป็นอัญมณี
ห้องที่สอง แสดงการเกิดอัญมณีและแหล่งอัญมณีทั่วโลก
ห้องที่สาม จัดแสดงเรื่อง อัญมณีกับอารยธรรมของโลก ประวัติศาสตร์ของเครื่องประดับ และจัดแสดงมงกุฏของกษัตริย์จำลอง เครื่องประดับจำลอง
ห้องที่สี่ จัดแสดงขั้นตอนการทำเหมืองพลอยในจังหวัดจันทบุรี การเจียระไนพลอย และบรรยากาศตลาดพลอย
เมื่อเดินทะลุออกมาด้านนอกจะเป็น Gems Pavillion บริเวณร้านจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับชนิดต่าง ๆ
และบริเวณชั้นหนึ่งมีศูนย์วิเคราะห์วิจัยและพัฒนาอัญมณี จังหวัดจันทบุรี ที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์อัญมณี ดำเนินงานโดย คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี
ศูนย์วิเคราะห์วิจัยและพัฒนาอัญมณี จังหวัดจันทบุรี
จังหวัดจันทบุรี ถือเป็นเมืองแห่งอัญมณีระดับโลก เพราะเป็นศูนย์รวมการค้าพลอยแบบครบวงจร พลอยเมืองจันท์ได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็นพลอยน้ำดี ได้รับการเจียระไนอย่างประณีตจากช่างฝีมือชั้นเลิศ เส้นทางของพลอยในเมืองจันท์นั้น มีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพราะยังคงมีการขุดหาพลอย ทำเหมือง คัดพลอย ช่างฝีมือดีในการเจียระไน ไปจนถึงการทำเป็นเครื่องประดับ โดยมีย่านการค้าพลอย (ตลาดพลอย) ตั้งอยู่ ช่วงถนนศรีจันท์และตรอกกระจ่าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี อยู่ติดกับถนนริมน้ำจันทบูร โดยจะเรียกเส้นทางนี้ว่า “ถนนอัญมณี”
ถึงแม้ว่าปัจจุบันพลอยในจังหวัดจันทบุรีจะลดลงไป จนแทบจะไม่เหลือแล้ว แต่ตลาดการค้าขายพลอยในเมืองจันท์ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางการซื้อขายแหล่งใหญ่ ที่มีผู้ประกอบการมาจากทั่วโลก มีผู้ซื้อ ผู้ขายทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ พลอยที่ซื้อขายก็มีการนำมาจากแหล่งอื่นๆ ด้วย เช่น พลอยจากพม่า กัมพูชา อินเดีย เวียดนาม ศรีลังกา (ซีลอน) และประเทศแถบแอฟริกา เช่น แทนซาเนีย เคนยา โมซัมบิก คองโก มาดากัสการ์ เป็นต้น ภาพที่เห็นชินตาในจังหวัดจันทบุรีคือ ในวันศุกร์และวันเสาร์จะมีชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาซื้อพลอยที่ตลาดพลอย บริเวณซอยกระจ่างและถนนศรีจันท์เป็นจำนวนมาก บรรยากาศการซื้อขายพลอยในจันทบุรี มักจะคึกคักในช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ โดยเริ่มตั้งแต่ตอนสาย ไปจนถึงช่วงบ่าย ประมาณ 10.00 -15.00 น. การซื้อขายมีทั้งแบบตั้งโต๊ะเปิดโล่ง และแบบอยู่ในห้องแอร์ มีการเขียนไว้ว่าคนซื้อต้องการพลอยแบบไหน ตลาดการค้าพลอยจะมีลักษณะการซื้อขายไม่เหมือนการซื้อขายสินค้าทั่วไปที่ผู้ขายเปิดร้านรอให้ผู้ซื้อเข้ามาซื้อ ในทางกลับกันการซื้อขายพลอยนั้นผู้ซื้อจะนั่งรอให้ผู้ขายเดินนำสินค้ามาเสนอขาย มีคนไทยสะพายกระเป๋าเดินกันเต็มตลาดพลอย คือ “คนเดินพลอย” ซึ่งจะนำพลอยจากโรงงานเจียระไนพลอยจากทั้งในตัวเมืองและอำเภอต่างๆในจังหวัดจันทบุรีเข้ามาขาย ผู้ขายจะเดินมาเสนอขายอัญมณีถึงที่โต๊ะรับซื้อ ซึ่งมีความแปลกและแตกต่างจากการซื้อขายโดยทั่วไป เท่าที่ทราบมา ในตลาดพลอยแห่งนี้ไม่เคยมีปัญหาฉกชิงวิ่งราวเลยตลอดเวลาเกือบ 50 ปี โดยสิ่งที่จะพบเห็นได้ในบริเวณตลาดพลอย มีดังนี้
1. ผู้ซื้อพลอย
ผู้ซื้อ คือ พ่อค้าพลอย หรือผู้ประกอบการร้านอัญมณีที่ต้องการซื้อพลอยดิบไปเจียระไน นำไปประกอบตัวเรือนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และนำไปขายต่อเป็นเครื่องประดับที่มีค่ามีราคาสูงต่อไป ซึ่งพ่อค้าพลอยมีทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เช่น อินเดีย ปากีสถาน จีน นิวซีแลนด์ ศรีลังกา แอฟริกา นั่งรอซื้อพลอยเนื้อดีเพื่อไปทำกำไรต่อ
2. ผู้ขายพลอย
คนขายพลอย หรือที่มักเรียกว่า "คนเดินพลอย" อาจเป็นเจ้าของพลอยที่หามาได้เอง หรือเป็นนายหน้า ที่รับมาจากโรงงาน หรือร้านทำพลอย เพื่อนำไปเสนอขายให้กับพ่อค้าพลอยแทนเจ้าของพลอย โดยนายหน้าทำหน้าที่คล้ายกับโบรกเกอร์ จะได้เปอร์เซ็นจากการขายประมาณ 1-2%
คนเดินพลอยในตลาดจะสังเกตได้ง่าย คือ เป็นคนที่เดินไปเดินมามีทั้งผู้หญิงผู้ชาย ส่วนใหญ่จะสะพายกระเป๋าข้างสำหรับใส่พลอยที่นำมาเสนอขาย คนเดินพลอยจะเดินวนเวียนเพื่อหาว่าจะนำพลอยไปเสนอขายที่โต๊ะไหนที่ให้ราคาดี หากตกลงกันได้ในราคาที่เหมาะสมก็จะขายให้กับผู้ซื้อคนนั้น
3. การตรวจสอบพลอย
เมื่อผู้ขายกับผู้ซื้อมาเจอกันก่อนที่จะตกลงซื้อขายกันได้นั้น คนซื้อจะตรวจเช็คสินค้าก่อนตั้งราคาซื้อ โดยทั่วไปผู้ซื้อจะมีอุปกรณ์คือ โต๊ะนั่ง ถาดรองพลอยสีขาว คีมคีบพลอย ตาชั่งสำหรับช่างพลอย (เพื่อคำนวณเป็นกะรัต) แว่นขยาย เครื่องคิดเลข
จากนั้นผู้ซื้อจะทำการตรวจสอบพลอย โดย
- ผู้ซื้อจะเทพลอยทั้งห่อใส่ในถาด ซึ่งใน 1 ห่ออาจมีตั้งแต่ 1 เม็ดไปจนถึงห่อละหลายเม็ดและพลอยแต่ละห่ออาจมีขนาดไม่เท่ากัน
- ผู้ซื้อจะดูหน้าพลอยและเขี่ยดูพลอยโดยทั่วๆ ก่อน จากนั้นอาจใช้คีมคีบพลอยบางเม็ดมาส่องดูด้วยแว่นขยาย เมื่อดูจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงเก็บพลอยทั้งหมดใส่ห่อ แล้วชั่งเพื่อคำนวณราคาด้วยเครื่องคิดเลข
- หากผู้ซื้อให้ราคาซื้อ (ส่วนใหญ่จะซื้อขายแบบเหมาทั้งห่อ) แล้วผู้ขายพอใจกับราคานั้นก็เป็นอันซื้อขายกันจบ หากไม่พอใจผู้ขายจะนำพลอยไปเดินหาผู้ซื้อรายอื่นต่อไป
4. การตกลงซื้อขาย
เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคากันได้ถูกใจทั้งสองฝ่ายก็จะทำการแลกของแลกเงินกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ซื้อจะรับซื้อพลอยทั้งกองหรือทั้งห่อของผู้ขาย ซึ่งอาจมีเพียงไม่กี่เม็ดหรือมีหลายเม็ดก็ได้
กรณีที่ผู้ขายเป็นนายหน้ารับพลอยมาจากโรงงาน หรือจากร้านอีกทีหนึ่ง หากตกลงราคากับผู้ซื้อไม่ได้ หรือไม่แน่ใจว่าราคาที่ผู้ซื้อเสนอมาสมควรขายออกไปหรือไม่ ก็จะมีการทำเครื่องหมายไว้กับห่อพลอยห่อนั้น เรียกว่า "การพันกา" คือ การจองพลอยของพ่อค้าพลอยทั้งห่อพันด้วยกระดาษหรือห่อด้วยกระดาษติดเทปแน่นหนา เขียนราคาและชื่อคนซื้อไว้เพื่อเป็นการทำเครื่องหมายจองโดยไม่ให้เปิดออก นายหน้าจะนำกลับไปถามเจ้าของพลอยแล้วจึงกลับมายังผู้รับซื้ออีกทีหนึ่ง หากกลับมาแล้วไม่สามารถตกลงราคาได้ก็จะฉีกใบจองนั้นเป็นอันยกเลิกสัญญาซื้อขาย แล้วผู้ขายก็จะไปหาผู้ซื้ออื่นต่อไป
รูป "การพันกา"การห่อพลอยเพื่อตกลงราคาและจองพลอย
ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ไม่สามารถหาจากที่อื่น ๆ จึงเป็นเสน่ห์และจุดขายของตลาดพลอยจันทบุรี
ชุมชนริมน้ำจันทบูร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจันทบุรีเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เคยเป็นย่านการค้ามานานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยที่พ่อค้าชาวจีนนำสินค้าจากเมืองจีนและซื้อเครื่องเทศ เช่น พริกไทย กระวาน จากจันทบุรีกลับไปขายที่เมืองจีน ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ยังมีอาคารบ้านเรือนเก่าที่ยังรักษาสถาปัตยกรรมแบบโบราณไว้ บางบ้านทำเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้าต่างๆ ในขณะที่บางบ้านก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ตรงนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด
ชุมชนโบราณริมน้ำจันทบูรอยู่บนถนนสุขาภิบาลมีเส้นทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่หัวถนนสุขาภิบาลหรือตรงเชิงสะพานวัดจันทร์ ตรงตามถนนขนานกับแม่น้ำจันทบุรีจากย่านท่าหลวง ไปจนถึงชุมชนตลาดล่าง
ชุมชนริมน้ำจันทบูร หรือที่เรียกกันว่า "ย่านท่าหลวง" แต่เดิมเรียกว่าเป็นแถบ "บ้านลุ่ม" อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ในอดีตถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญ ตั้งแต่ช่วงสมัยของพระนารายณ์มหาราช มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินถนนเส้นนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ในช่วงเวลานั้น จังหวัดจันทบุรีถือเป็นหัวเมืองตะวันออกที่เป็นศูนย์กลางการค้า มีการติดต่อค้าขายกับชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นเมืองท่าสำคัญในการลำเลียง ขนส่งสินค้า โดยพ่อค้าจากอำเภออื่นนำสินค้าในป่ามาขาย เช่น ฟืน เก็บรง (ยางไม้ชนิดหนึ่ง) กระวาน ขี้ผึ้ง ไม้กฤษณา ผลไม้ แล้วหาซื้อสินค้าจำเป็นจากเมืองจันทบุรีกลับไป
ชุมชนริมน้ำจันทบูร ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบที่เรียกว่า "วัฒนธรรมนำการค้า" ที่เน้นการอนุรักษ์ด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบเห็นวิถีชีวิตชุมชนคนพื้นถิ่นในรูปแบบเดิม ได้เห็นเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมแบบเก่าแก่ของแท้ โดยพยายามให้สิ่งแปลกใหม่เข้าไปน้อยที่สุด ตัวบ้านหรืออาคารเก่า เพียงแค่ถูกปัดฝุ่น ซ่อมแซมปรับปรุง ทาสีให้ดูใหม่ในกลิ่นอายของต้นฉบับเดิม ไม่ได้ดัดแปลงหรือแปรสภาพ คนในชุมชนยังคงเป็นคนในพื้นที่เป็นเจ้าของบ้านเดิมที่ยังคงทำการค้ากันมาตั้งแต่ครั้งอดีต เป็นผู้เฒ่าผู้แก่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานที่เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้าชมความสวยงามในอดีตได้พูดคุยกับผู้ที่มาเยี่ยมเยือน ยินดีให้ถ่ายรูป และเปิดใจให้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตแบบย้อนยุค
เส้นทางชุมชนริมน้ำจันทบูรเหมาะกับการเดินเที่ยวแบบสบายๆ ใช้ชีวิตแบบ Slow Life ได้เรียนรู้วิถีชุมชน เดินชมของเก่า ศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยก่อนความประณีตของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่หาดูได้ยาก มีมุมให้ได้นั่งพักผ่อน แวะชม หยุดชิม ทั้งอาหาร และขนมต่างๆ กิจกรรมที่น่าสนใจประกอบไปด้วย
1. ชมสถาปัตยกรรมใน 3 ย่าน
ความโดดเด่นของในชุมชนริมน้ำจันทบูร เป็นเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับการเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมศิลปะที่คงอยู่มีการผสมผสานที่ลงตัวของแต่ละยุคสมัยและแต่ละเชื้อชาติ ทำให้ได้เห็นวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรม ตั้งแต่ช่วง 200 ปี 150 ปี 100 ปี มาจนถึงช่วงปัจจุบัน บนถนนเส้นนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ย่าน คือ ย่านท่าหลวง ย่านตลาดกลาง และย่านตลาดล่าง
- ย่านท่าหลวง
จากบริเวณเชิงสะพานวัดจันทร์ในช่วงต้นๆ ซอย เดิมเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการต่อมาได้เปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยและทำธุรกิจ
ชุมชนย่านท่าหลวง
- ย่านตลาดกลาง
เป็นย่านที่เริ่มเห็นเป็นอาคารพาณิชย์และตึกสูง ย่านนี้เดิมเป็นศูนย์กลางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ามีท่าเรือสำหรับการคมนาคมและขนส่งสินค้า เคยเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2533 ได้มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ จึงไม่ค่อยมีอาคารเก่าให้เห็นมากนัก
- ย่านตลาดล่าง
เดิมเคยเป็นย่านที่อยู่อาศัย ลักษณะบ้านเรือนจึงแตกต่างกันไปตามฐานะของเจ้าของบ้าน บ้านของคหบดี มีการตกแต่งบานประตูหน้าต่างและช่องลมด้วยไม้ฉลุลวดลายที่ดูอ่อนช้อย จะได้เห็นบ้านในลักษณะเรือนขนมปังขิงบ้างก็เป็นแบบโคโลเนียลและชิโนโปรตุกีส
บ้านในลักษณะแบบโคโลเนียลและเรือนขนมปังขิง บริเวณย่านตลาดล่าง
2. รู้อดีตของบ้านผ่านเรื่องราว
อาคารบ้านเรือนแต่ละหลังตั้งแต่ย่านท่าหลวงถึงตลาดล่างต่างก็มีประวัติความเป็นมาและเรื่องราวที่น่าสนใจ เวลาเดินเที่ยวจึงมักมีป้ายนำชมเล่าเรื่องบอกเรื่องราวของบ้านแต่ละหลังให้ได้รู้จักชุมชนมากขึ้น บ้านที่ได้รับการแนะนำให้ได้ชม ได้แก่
บ้านหลวงราชไมตรี
ตั้งอยู่ใกล้หัวถนนท่าหลวง เป็นบ้านอายุราว 150 ปีบ้านของท่านหลวงราชไมตรีมีบ้านมีอยู่ 2 หลัง หลังหนึ่งเป็นบ้านไม้สักทอง 2 ชั้นลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทย ส่วนอีกหลังอยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านตึกเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่ง บ้านหลวงราชไมตรีส่วนที่เป็นเรือนไม้อยู่ติดริมน้ำจันทบุรี ปัจจุบันได้ปรับปรุงเปิดให้เป็นบ้านพักเมื่อปลายปี พ.ศ. 2557 โดยเปิดเป็นบ้านพักประวัติศาสตร์ลักษณะบูทิคโฮเทลที่ใช้บ้านเก่าแก่มาปรับแต่งให้เป็นห้องพักทั้งหมด 12 ห้อง แต่ละห้องมีชื่อและมีเรื่องเล่าในเชิงประวัติศาสตร์ เช่น
- ห้องเอเชียตีค ให้ความรู้สึกแบบกลิ่นอายตะวันตก
- ห้องนายพ่อนายแม่ เป็นห้องที่มีบันทึกคำสอนของหลวงราชไมตรีที่ให้ไว้กับลูกหลาน
- ห้องวิถีจันท์ เป็นห้องพักที่ได้เห็นถนนสุขาภิบาลที่อยู่ด้านหน้าบ้าน ได้เห็นวิถีชีวิตชุมชน
- ห้องลูกยาง เป็นห้องที่ให้เห็นถึงที่มาของการปลูกยางพาราในเมืองจันทบุรี ซึ่งหลวงราชไมตรีเป็นผู้นำเข้ามาปลูกเป็นคนแรกๆ
นอกจากนี้ยังมีห้องพักแบบอื่นๆ ที่ตกแต่งด้วยไม้ทำให้ดูขรึม คลาสสิก ด้านหลังบ้านมีระเบียงให้ได้นั่งชมวิวริมแม่น้ำจันทบุรีด้วย ในส่วนอื่นๆของตัวบ้านนอกจากจะได้ชมความสวยงามของเรือนไม้แล้ว ยังมีของใช้ส่วนตัวของท่านหลวงราชนำมาตั้งโชว์ตามจุดต่างๆ เช่นถ้วยชาม เครื่องคิดเลข เป็นต้น ทำให้รู้สึกเหมือนได้พักอยู่ในบ้านที่อบอุ่นพร้อมทั้งชมพิพิธภัณฑ์ไปด้วย
3. ชิมขนมท้องถิ่น อิ่มตลอดทาง
บนถนนชุมชนริมน้ำจันทบูร นอกจากจะได้เดินชมบ้านเรือนเก่าแล้วยังมีร้านที่เป็นคนในชุมชนเปิดกิจการ ให้ได้แวะชิม ตั้งแต่หัวถนนไปจนถึงตลาดล่าง เช่น
ร้านไอศครีม ตราจรวด
บ้านเลขที่ 255/3-7 เป็นโรงงานไอศครีมตราจรวดและบ้านพักอาศัยมีอายุกว่า 100 ปี ร้านไอศครีมตราจรวดเป็นยี่ห้อเก่าแก่ของเมืองจันทบุรีเป็นร้านไอศครีมเจ้าแรกๆ ของจันทบุรี ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ถือเป็นเจ้าแรกที่ใช้เครื่องจักรในการทำไอศครีม
ลักษณะอาคารเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ทรงยุโรปเหมือนเรือนแถวติดกัน 4 ห้อง เป็นอีกอาคารที่มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสวยงาม ชั้นล่างมีลายฉลุไม้ประดับตรงช่องว่างส่วนโค้งเหนือกรอบประตู คันทวยก็เป็นลายฉลุรับให้สอดคล้องกัน ริมหลังคากันสาดได้ติดแถบฉลุลาย ชั้นบนตกแต่งด้วยลายนูนสูงทำเป็นเสาโรมันประดับ ขอบหน้าต่างก็ทำเป็นลายเสารับกับส่วนโค้งด้านบนกรอบหน้าต่าง ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างมีความสมบูรณ์อยู่มาก
ด้านหน้าร้านไอศรีมมีตู้ไอศครีมเรียงรายอยู่ด้านหน้าร้าน หากต้องการซื้อและจ่ายเงินให้สั่นกระดิ่งเรียกพนักงานจะโผล่มาให้บริการทางหน้าต่าง ไอศครีมของทางร้านมีหลายแบบ แบบตักเป็นไอศครีมรวมมิตรใส่หน้าได้ ไอศครีมแบบแท่ง เป็นแท่งๆ ละ 10 บาทที่ทำออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่น ไอศครีมแท่งหวานเย็นรสผลไม้ต่างๆ เช่น ทุเรียน สละ ไอศครีมตัด ไอศครีมกะทิ ที่มีไส้ถั่วดำ รวมมิตร ข้าวโพด ลอดช่อง ไอศครีมปั่น ไอศครีมกระติก ส่วนที่ขายดีและไม่เหมือนที่ไหนคือ "ไอศครีมกระเบื้อง" เป็นไอศครีมแท่ง ด้านในมีรสต่าง ๆ ด้านนอกเคลือบด้วยน้ำตาลสีชาทำให้กรอบด้านนอกนุ่มด้านใน
ร้านไอศครีมตราจรวด
โบสถ์คาทอลิกจันทบุรีเป็นอีกหนึ่งสถานที่ไฮไลท์ของการท่องเที่ยวในเขตตัวเมืองจันทบุรี เป็นโบสถ์คริสต์ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปีมีความสวยงามและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เป็นศาสนสถานที่ดูอลังการยิ่งใหญ่แฝงไว้ด้วยความสงบ บ่งบอกถึงพลังความศรัทธาอันแรงกล้าและความเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นของคริสตศาสนิกชนในจังหวัดจันทบุรี โบสถ์คาทอลิกได้เปิดให้ผู้คนแวะเข้าไปเยี่ยมชมภายในโบสถ์ได้ มีผู้คนแวะมาถ่ายรูปทั้งกลางวันและกลางคืน โบสถ์อยู่ติดริมแม่น้ำจันทบุรีมีที่จอดรถสะดวก เดินชมแล้วสามารถเดินข้ามสะพานไปยังชุมชนริมน้ำจันทบูรได้
โบสถ์วัดพระแม่ปฏิสนธินิรมลหรืออาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล เป็นโบสถ์คาทอลิกรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบกอทิก (Gothic) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2449 ลักษณะคล้ายมหาวิหารนอตเทรอดามที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) มีหลังคาสูงแหลม ภายในประดับด้วยกระจกสีและมีลวดลายปูนปั้นสวยงาม ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นปี 2542 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล (ภาพ: www.traave.com)
ลักษณะตัวโบสถ์ยังคงหันหน้าไปทางแม่น้ำจันทบุรี ตัวอาคารกว้าง 20 เมตร ยาว 60 เมตร ด้านหน้ามีหอสูง 2 ข้าง ประดับด้วยยอดโดมแหลมข้างละยอด ยอดโดมนี้ครั้งหนึ่งได้เคยถูกรื้อลงเมื่อปี พ.ศ.2483 เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเกรงว่าจะเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศ ปัจจุบันได้ใส่ยอดโดมคืนไว้ดังเดิมแล้ว
หอด้านหน้า ด้านหนึ่งเป็นหอระฆัง มีระฆังอยู่ 3 ใบ (แต่ละใบมีน้ำหนัก และการให้เสียงที่แตกต่างกัน ใบใหญ่มีน้ำหนักถึง 650 กิโลกรัม) และติดตั้งนาฬิกาทรงกลมเรือนใหญ่ มีเส้นรอบหน้าปัด 4.70 เมตร สามารถมองเห็นได้ไกลประมาณ 2 กิโลเมตร
หอระฆังและนาฬิกาทรงกลมเรือนใหญ่ประดับอยู่ด้านหน้าของโบสถ์
ภายในโบสถ์ เป็นห้องโถงกว้าง ภายในตกแต่งภายในด้วยศิลปะเก่าแก่มีไม้ฉลุลวดลาย มีบันไดเวียนทำด้วยไม้ขึ้นไปยังชั้นลอยและมีพระแท่นทำจากไม้แกะสลัก พื้นโบสถ์ปูด้วยหินอ่อน ส่วนเพดานมีลักษณะโค้งแบบท้องเรือโนอาห์ติดโคมไฟระย้า ผนังโบสถ์ใช้สีอมชมพูทำให้ดูสว่างสดใสเมื่อต้องแสงไฟ บานหน้าต่างทำเป็นทรงสูง ด้านบนทำเป็นยอดโค้งแหลมประดับตกแต่งด้วยกระจกสีสเตนกลาสเป็นรูปนักบุญต่าง ๆ ในคริสตศาสนา เช่น จอห์น แบปติสต์, โจนส์ ออฟ อาร์ค (ผู้กอบกู้ฝรั่งเศส)
ถัดจากประตูด้านหน้าเข้าไปภายในโบสถ์ มีเก้าอี้ยาวเรียงเป็นแนวซ้าย-ขวาทั้ง 2 ฝั่ง ไปจนถึงส่วนที่ยกพื้นสูง ด้านหลังมีกางเขนใหญ่ ตู้ศีล พระแท่นและบรรณฐาน เหนือไม้กางเขนมีองค์พระแม่มารีย์ประทับอยู่ในซุ้มติดผนังเหนือขึ้นไปด้านบน ลวดลายผนังบริเวณด้านข้างไม้กางเขน วาดเป็นภาพสาวกของพระเยซู
งานศิลปะฝาผนังภายในโบสถ์ บันไดเวียนทำด้วยไม้ และองค์พระแม่มารีย์ประดับอัญมณี (ภาพ: www. travel.thaiza.com และ www. chanmunic.go.th)
จังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งในดินและในน้ำ มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลางสาด และพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ เช่น พริกไทยและยางพารา ส่วนบริเวณชายฝั่งก็มีทำการประมง จึงเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารทะเลนานาชนิดู
ชื่อเมืองจันทบุรี หรือ “เมืองจันท์” นั้น มีความหมายว่า “เมืองที่สงบร่มเย็น เช่นเดียวกับเมื่ออยู่ใต้แสงจันทร์” โดยมีตราประจำจังหวัดเป็นดวงจันทร์กำลังส่องแสง มีกระต่ายน้อยอยู่ตรงกลาง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอท่าใหม่ อำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอมะขาม อำเภอสอยดาว อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ
จันทบุรีเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของภูมิภาค เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานการค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ยุคหินขัดอายุประมาณ 2,000 ปี ในเขตอำเภอมะขาม อำเภอท่าใหม่ และที่ราบเชิงเขาที่บ้านคลองบอน อำเภอโป่งน้ำร้อน โดยสันนิษฐานว่าเริ่มมีการตั้งเป็นชุมชนเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ที่บริเวณหน้าเขาสระบาป โดยชนพื้นเมืองกลุ่มแรกเป็นชนเผ่าในตระกูลมอญ-เขมร หรือเรียกว่า “ชาวชอง” ดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าขาย แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าลดน้อยลงไปมาก เพราะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ทางการเกษตร และที่ดินส่วนมากถูกจับจองโดยคนไทยและคนจีน อีกทั้งการเก็บของป่ากลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นายพรานชาวชองจึงต้องเปลี่ยนวิถีการดำรงชีพไปเป็นแรงงานต่างๆ ในเมือง และมีบางส่วนที่ยังคงยึดอาชีพทำสวนทำนาอยู่ ปัจจุบันชาวชองรวมตัวกันอยู่ที่บ้านคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ
ในปี พ.ศ. 2200 ได้มีการย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านลุ่ม ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาพ่ายสงครามและตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ ก็ได้นำกำลังพลประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาทางทิศตะวันออก และจัดตั้งเมืองจันทบุรีเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและกำลังพลเป็นเวลาถึง 5 เดือน ก่อนนำทัพที่ประกอบด้วยไพร่พลทั้งชาวไทยและจีนจำนวนราว 5,000 คน กลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 ซึ่งการมีบทบาทในการช่วยกอบกู้เอกราชของชาติในครั้งนั้น นับเป็นเหตุการณ์ที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวจันทบุรี ปัจจุบันจึงมีโบราณสถานและอนุสรณ์สถานหลายแห่งที่เกี่ยวข้องหรือจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในครั้งนั้น ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้ย้ายเมืองจันทบุรีไปตั้งบนพื้นที่สูงที่บ้านเนินวง เพื่อให้เป็นที่มั่นในการป้องกันการถูกรุกรานจากชาวญวน จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 5 โปรดให้ย้ายหัวเมืองจันทบุรีกลับมาตั้งที่บ้านลุ่มตามเดิม เนื่องจากบ้านเนินวงนั้นอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับประเทศฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสได้เข้ามายึดครองเมืองจันทบุรีไว้นานถึง 11 ปี จนไทยต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสไป เพื่อแลกเอาเมืองจันทบุรีกลับคืนมาและฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีจนหมดเมื่อ 12 มกราคม 2447 คงเหลืออาคารกองบัญชาการทหาร หรือ “ตึกแดง” และ ”คุกขี้ไก่” ไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของจันทบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่ เมืองจันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน
จังหวัดจันทบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงมากมายและหลากหลายรูปแบบ ทั้งในด้านของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ศาสนา และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น โอเอซีสซีเวิลด์ แหลมเสด็จ หาดคุ้งวิมาน หาดเจ้าหลาว หาดแหลมสิงห์ วัดพลวงและรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นต้น นอกจากนี้ จันทบุรียังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทอุทยานแห่งชาติที่สวยงามอีกหลายแห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ฯลฯ
ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มีร้านขายของที่ระลึกที่มีสินค้าของฝากประจำจังหวัดให้เลือกซื้อตามความชอบ ที่สำคัญคือสินค้าโอทอป ซึ่งมีทั้งงานศิลปหัตถกรรมประจำท้องถิ่นและผลผลิตทางการเกษตรที่นำมาแปรรูปได้อย่างน่าสนใจ และสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้จากภูมิปัญญาพื้นถิ่น อาทิ เช่น การเผาพลอย การเจียระไนพลอย และการทำเครื่องประดับ จันทบุรี คือ ศูนย์กลางธุรกิจด้านอัญมณีที่มีชื่อเสียงแพร่หลายไปทั่วโลก เป็นแหล่งรวมช่างฝีมือในการเจียระไนอัญมณีและทำเครื่องประดับต่างๆ จึงทำให้จันทบุรีเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน
จังหวัดจันทบุรีมีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่นมากมายและหลากหลายรูปแบบ กิจกรรม เช่น เที่ยวชมและนมัสการรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ นอกจากนี้ยังมี ศาสนสถานอื่นๆ ที่น่าเยี่ยมชม เช่น วัดเขาสุกิม วัดมังกรบุปผารามหรือวัดเล่งฮัวยี่ วัดคาทอลิกจันทบุรีหรืออาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล เป็นต้น แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ขึ้นชื่อ เช่น น้ำตกพลิ้ว สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ หาดแหลมเสด็จ โอเอซีส ซี เวิลด์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ คือ ขับรถชมวิวทิวทัศน์บนถนนเลียบชายทะเลที่หาดคุ้งวิมาน เที่ยวชายหาดเจ้าหลาวและแหลมเสด็จ ขี่จักรยานท่องเที่ยว เที่ยวน้ำตก ดูนก เดินป่าศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ออกเรือไปตกหมึก ชมหิ่งห้อย เป็นต้น
ข้อมูลจาก สุรินทร์ อินทะยศ และธนวัฒน์ พิมลจินดา (2561) การประเมินศักยภาพในการยกระดับจังหวัดจันทบุรีสู่นครแห่งอัญมณีของโลก. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์.
สมาคมส่งเสริมการท่องที่ยวจันทบุรี www.facebook.com/chantourism/
สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดจันทบุรี www.chanthaburi.mots.go.th
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
www.thai.tourismthailand.org/เกี่ยวกับประเทศไทย/ปลายทาง/จันทบุรี