เทคนิคการเลือกอัญมณี

การประเมินคุณภาพอัญมณี ด้วยหลัก 4C



มูลค่าของอัญมณีขึ้นอยู่กับความสวยงาม ซึ่งใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพอัญมณีที่รู้จักกันดีคือ 4Cs ได้แก่

  1. Color: สี
  2. Clarity: ความสะอาดของเนื้อพลอย  สัมพันธ์กับการผ่านแสง (Transparent)
  3. Cutting: การเจียระไน และรูปร่างของพลอย
  4. Carat: น้ำหนักกะรัต การซื้อขายอัญมณีที่เจียระไนแล้ว ใช้หน่วยของน้ำหนักเป็น “กะรัต” หากเทียบกับหน่วยน้ำหนักเป็นกรัม  “1 กะรัต หนักเท่ากับ 0.2 กรัม

▸ Color  สี

       พลอยแต่ละชนิดก็มีสีหลักเฉพาะตัว เมื่อพูดถึงสีแดงของทับทิมก็ต้องเป็นสีแดงที่ไม่มีสีน้ำตาลเจือ แต่ถ้าเป็นสีแดงของโกเมนผู้ที่คุ้นเคยกับพลอยก็จะเข้าใจตรงกันว่าเป็นสีแดงมืด อย่างที่ใช้คำบรรยายว่า “แดงแก่ก่ำโกเมนเอก” ดังนั้นการสื่อสารเรื่องสีระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อควรมีสื่อกลาง การให้ข้อมูล หรือการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจตรงกัน ในการพิจารณาสี สถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งอเมริกา(GIA) กำหนดระบบการวิเคราะห์สีไว้3 ส่วนคือ

  1. สีหลัก (Hue) สีของพลอย(body color)
  2. โทนสี (Tone) ความมืดสว่างของสีหลัก (darkness or lightness)  พลอยสีสวยโทนสีไม่ควรอ่อน หรือมืดจนเกินไป
  3. ความอิ่มตัวของสี (Saturation) ความเข้มหรือความบริสุทธิ์ของสี (intensity or purity of color)

       การพิจารณาสีอัญมณีควรใช้แสงไฟที่มีสีใกล้เคียงกับแสงอาทิตย์ (แสงขาว : Daylight) สามารถใช้หลอดไฟแสงเดย์ไลท์ (6500K Daylight) ในการดูสีอัญมณีได้ โดยเราดูทางด้านหน้าอัญมณี

       หากเป็นพลอยที่แสดงปรากฏการณ์ทางแสง เช่น พลอยตาแมว พลอยสตาร์ ก็ควรเลือกเม็ดที่เห็นปรากฏการณ์ทางแสงได้ชัดเจน อยู่กลางเม็ดพลอย

       สีมีความสำคัญที่สุดในการจัดลำดับคุณภาพพลอย(colored stone grading)โดยประเมินคุณภาพและมูลค่าจากสีและความเข้มของสี ทั้งนี้ไม่มีเกณฑ์การเลือกสีสำหรับพลอยแต่ละชนิดอย่างชัดเจนและเป็นสากลเหมือนอย่างเพชร บริษัทผู้ซื้อ-ผู้ขาย เป็นผู้กำหนดรหัสสินค้าและระดับคุณภาพเอง เช่น website Sell my diamond ประกาศรับซื้อไพลิน โดยกำหนดระดับคุณภาพเป็น 4 ระดับคือ Fair, Good, Better และ Gem Fine  

www.sell-my-diamonds.com/home/sell-my-gems/sell-my-sapphires



       ในขณะที่ร้านค้าอื่นก็กำหนดระดับสีที่แตกต่างออกไป เช่น www.judypscp.com มีชื่อระดับ Better เหมือนกับ www.sell-my-diamonds.com แต่เมื่อดูสีแล้วพบว่าสีต่างกัน



       ตัวอย่างการกำหนดชื่อทางการค้าของโทแพซเป็นสีสกายบลู(sky blue)  เบเบี้สวิสบลู (baby swiss blue) สวิสบลู (swiss blue) ลอนดอนบลู (London blue)  ทาง www.dazzlingjewellers.co.za เปรียบเทียบกับการจัดรหัสแบบเกรดบี (Grade B) เกรดเอ (Grade A) จนถึงเกรดเจม (Grade GEM) ของnavneetgems  ทาง www.navneetgems.com/aquamarine-color-chart-navneet-gems



       ตัวอย่างการกำหนดรหัสทางการค้าของไอโอไลต์ โดยใช้สีเป็นเกณฑ์เทียบกับเกรดที่กำหนดของ www.navneetgems.com/iolite-colors-navneet-gems กำหนดไว้ 4ระดับคือ

  • - เกรดบี (Grade B)ไอโอไลต์โทนเข้มเกือบดำ
  • - เกรดเอ (Grade A) ไอโอไลต์สีอ่อน
  • - เกรดดับเบิลเอ (Grade AA) ไอโอไลต์สีเทาถึงม่วงโทนปานกลาง
  • - เกรดทริปเปิลเอ (Grade AA) ไอโอไลต์สีดีที่สุด (Top Color)



       ตัวอย่างชื่อทางการค้าของซิทริน โดยใช้สีเป็นเกณฑ์เผยแพร่ที่ http://www.navneetgems.com/palmeira-madeira-and-golden-citrine_-navneet-gems/ มี 3 สีคือ

  1. Palmeria Citrine ใช้เรียกซิทรินสีส้ม
  2. Madeira Citrine ใช้เรียกซิทรินสีส้มแดง-น้ำตาลแดง
  3. Golden Citrine ใช้เรียกซิทรินสีเหลืองทอง



       นอกจากการกำหนดชื่อสีของพลอยแต่ละชนิดเพื่อการสื่อสารสีพลอยของผู้ขาย-ผู้ซื้อให้ให้ตรงกันแล้ว สีพลอยก็มีผลต่อราคาด้วย ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีที่มีการระบุชื่อสีเฉพาะก็จัดทำชื่อสี-ข้อมูลคำจำกัดความชื่อสีเผยแพร่ให้ลูกค้า-ผู้ใช้ใบรับรองอัญมณี(Gemstone Certificate) หรือที่เรียกกันว่าใบเซอร์ มีความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์การระบุชื่อสีทางการค้าของห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีนั้น ๆ ซึ่งเกณฑ์ของแต่ละห้องปฏิบัติการก็มีทั้งคล้ายและต่างกันเล็กน้อย เช่น ห้องปฏิบัติการโลตัส (Lotus Gemology)กำหนดชนิดสี (Color Types) ของทับทิมและแซฟไฟร์ และระดับโทน (Tone Scale)ของไพลิน ไว้ที่เวปไซต์ของห้องปฏิบัติการโลตัส www.lotusgemology.com



▸ Clarity  ความสะอาดของเนื้อพลอย

       ความสะอาดของเนื้อพลอย สัมพันธ์กับการผ่านแสง (Transparent) พลอยที่มีมลทิน(inclusion) ในเนื้อจะทำให้มีลักษณะขุ่นมัวมากขึ้นตามปริมาณมลทิน ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติที่พลอยจะมีมลทิน

Inclusion คือสิ่งที่พบในเนื้อพลอย อาจเป็นผลึกแร่ ของเหลว ช่องว่าง รอยแตกในเนื้อพลอย หรือร่องรอยการเจริญเติบโตของผลึก

  • ข้อดีของ inclusion คือใช้เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นพลอยธรรมชาติ พลอยสังเคราะห์ พลอยผ่านการปรับปรุงคุณภาพ หรือแหล่งที่มาของพลอย
  • ข้อเสียของการมี inclusionในพลอยจำนวนมากคือทำให้พลอยมีความขุ่นมัว หรือinclusion ที่เป็นผลึกสีเข้มจะเห็นได้เด่นชัดจึงลดความสวยงามของพลอยลง ในภาษาไทยจึงเรียกinclusionว่ามลทิน แต่ก็มีinclusionบางลักษณะที่ทำให้พลอยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากทำให้พลอยแสดงปรากฏการณ์ทางแสง เช่น พลอยสตาร์ พลอยตาแมว หรือพลอยที่เห็นลักษณะระยิบระยับเนื่องจากมีมลทินแร่ขนาดเล็กที่สะท้อนแสงได้


▸ Cutting  การเจียระไน และรูปร่างของพลอย

       ความสวยงามของพลอยส่วนหนึ่งเกิดจากการกำหนดรูปร่างและเจียระไนที่ได้สัดส่วน เราจะไม่เห็นปรากฏการณ์ทางแสงของพลอยสตาร์ พลอยตาแมว ถ้าไม่เจียระไนแบบหลังเบี้ย การเจียระไนสัมพันธ์กับน้ำหนักพลอยซึ่งจัดว่ามีความสำคัญเป็นอันมากเพราะการซื้อขายพลอยนั้นใช้น้ำหนักในการคำนวณราคา ช่างเจียระไนจะเจียระไนเพื่อรักษาน้ำหนักพลอยเป็นหลัก ปัจจุบันมีการใช้โปรแกรมการออกแบบเหลี่ยมเจียระไนเพื่อเน้นความสวยงาม ให้พลอยแสดงประกายมากที่สุด หรือทำให้เห็นเป็นรูปจากทางด้านหน้าพลอยโดยใช้พลอยที่มีราคาไม่สูง มีขนาดใหญ่


▸ Carat  น้ำหนักกะรัต

       การซื้อขายอัญมณีที่เจียระไนแล้ว ใช้หน่วยของน้ำหนักเป็น “กะรัต” หากเทียบกับหน่วยน้ำหนักเป็นกรัม 1 กะรัต หนักเท่ากับ 0.2 กรัม” การซื้อขายพลอยทั่วไปนั้นใช้น้ำหนักในการคำนวณราคา บอกราคาต่อหนึ่งกะรัต เช่น พลอยกะรัตละ 100 บาท ถ้าพลอยหนัก 0.5 กะรัต พลอยเม็ดนี้ก็จะราคา 50 บาท ทั้งนี้ราคาต่อกะรัตของพลอยก็ไม่ได้เท่ากันทุกขนาด อัตราราคาจะเพิ่มขึ้นตามขนาด ความหายากและความต้องการของตลาด

       ตัวอย่างราคาพลอยชนิดเดียวกันที่มีน้ำหนักไม่เท่ากัน ราคาจะเพิ่มทวีคูณเนื่องจากพลอยขนาดใหญ่จะพบได้ยากกว่าพลอยขนาดเล็ก

น้ำหนักต่อเม็ด 1-2 กะรัต
ราคากะรัตละ 100 บาท
น้ำหนักต่อเม็ด 3-5 กะรัต
ราคากะรัตละ 1,000 บาท
น้ำหนักต่อเม็ด 5-7 กะรัต
 ราคากะรัตละ 5,000 บาท


       ตัวอย่างเอกสารแนะนำการซื้อทับทิมโดยพิจารณาหลัก 4Cs




ความเชื่อมั่นในร้านค้า




▸ Buy with Confidence

การจัดทำมาตรฐานพลอยสีเพื่อรับประกันคุณภาพ โดยการจัดให้มีตราสัญลักษณ์ร้านค้าให้เป็นที่ยอมรับ และการให้ใบรับรองคุณภาพและมาตรฐานร้านค้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายด้วยความมั่นใจ (Buy with Confident) เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และป้องกันการหลอกลวง

โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence: BWC เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ซื้อที่ต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมาตรฐาน สามารถซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  ได้จัดทำโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence: BWC เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ซื้อที่ต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมาตรฐาน สามารถซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น  และเพื่อสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และจำหน่ายสินค้าได้ง่ายขึ้นผ่านระบบ QR CODE

www.bwc.git.or.th

โดยมีเงื่อนไขการใช้ตราสัญลักษณ์คือ

  1. ตราสัญลักษณ์จะอนุญาตให้เฉพาะร้านค้า ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการเท่านั้น ไม่สามารถที่จะถ่ายโอนสิทธิแก่ นิติบุคคล หรือบุคคลใดได้ โดยมีระยะเวลาการใช้ ซึ่งดูตามประกาศเพิ่มเติมของสถาบันในแต่ละปี ในปีแรกนี้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561
  2. ตราสัญลักษณ์ BWC จะมอบให้กับร้านค้า ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ และมีสินค้าผลิตภัณฑ์อัญมณี โลหะมีค่า และเครื่องประดับ ตั้งแต่ 1 ชิ้นขึ้นไปที่ได้รับใบรับรองจากสถาบัน

หมายเหตุ: BWC มิใช่การรับรองร้านค้า หรือ การรับรองราคาสินค้า ดังนั้นผู้ซื้อและผู้ขายควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อนการตัดสินใจซื้อ

ตราสัญลักษณ์ Buy With Confidence: BWC



▸ ตราสัญลักษณ์ของแบรนด์พลอยจันท์ (PloyChan)


       ตราสัญลักษณ์แบรนด์พลอยจันท์จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรีใช้ในการเดินทางไปขายอัญมณีและเครื่องประดับในต่างประเทศเมื่อมีการจัดงานในลักษณะคาราวานสินค้า


       ตราสัญลักษณ์ของแบรนด์พลอยจันท์ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ

  1. สัญลักษณ์แบบอักษร (LOGOTYPE) แสดงถึงบุคลิกภาพของแบรนด์ที่มีสเน่ห์ มีรสนิยมดูอ่อนช้อยงดงามบ่งบอกถึงงานที่มีความปราณีต
  2. รูปสัญลักษณ์ (LOGO SYMBOL) เป็นรูปที่เป็นภาพรวมของสัญลักษณ์ ได้แก่
    1. สัญลักษณ์ลายกนกที่เรียงตัวเป็นรูปกระจัง แสดงถึงความเป็นไทยความปราณีตความมี อารยธรรมความหรูหราสง่างามโดยลายกนกนี้ได้มีการออกแบบให้เป็นตัวพี (P)และซี (C)ซึ่งก็คือ“Ploy”    “Chan”แสดงความเป็นแบรนด์ของจันทบุรี ซึ่งกลมกลืนร่วมสมัยกับปัจจุบันยุค
    2. สัญลักษณ์จุดสีเหลืองที่เรียงตัวกัน 9 จุด มีลักษณะหมุนดูเป็นประกายแสดงความก้าวหน้าการพัฒนาไปอย่างยั่งยืน
    3. สี 3 สี ประกอบด้วย“สีน้ำเงิน” “ สีเหลือง” และ“สีแดง” สื่อถึงพลอยที่มีมากและมีชื่อเสียงของจันทบุรีคือ“ไพลิน” “บุษราคัม” และ“ทับทิมสยาม” ซึ่งกลุ่มสีทั้งหมดนั้นเรียงรายตัวเสมือนการเข้าตัวเรือนของเม็ดพลอย
    4. ทิศทางของรูปสัญลักษณ์ มีลักษณะแผ่กระจาย (Radius) แต่ก็พุ่งเข้าสู่ศูนย์กลางซึ่งแสดงยุทธศาสตร์ของจันทบุรีคือเป็นเมืองอัญมณีเป็นศูนย์กลางการค้าการแลกเปลี่ยนการแปรรูปการส่งออกอัญมณี
  3. คำขยายแบรนด์ (Brand Identifier) คำว่า“Glamourously Elegant Gems & Jewelry of Chanthaburi Thailand” หมายถึง“พลอยจันท์เป็นแบรนด์ของความเปล่งประกาย เจิดจรัส ปราณีตละเอียดละออ” ซึ่งมาจากจังหวัดจันทบุรีในประเทศไทย
  4. ข้อความสนับสนุนแบรนด์ (Brand Statement) คำว่า“Refined to Excellence” หมายความว่า “เจียรไนสู่ความเป็นเลิศ” คือความตั้งใจความมุ่งมั่น ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่ไม่หยุดที่จะขัดเกลาเพื่อสิ่งที่ดีกว่า



▸ ตราสัญลักษณ์รับประกันคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี (Chanthaburi Gems& Jewelry Guarantee) โครงการส่งเสริมและพัฒนา “จันทบุรีเป็นนครแห่งอัญมณี


       เป็นเครื่องหมายรับรองว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ฯ เป็นผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับของจังหวัดจันทบุรีจริง และได้ผ่านการจดทะเบียนพาณิชย์เรียนร้อยแล้ว แต่จะไม่ครอบคลุมไปถึงการรับประกันว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนั้นเป็นของแท้ ซึ่งโดยปกติผู้ประกอบการจะออกใบรับประกันสินค้าให้แก่ผู้ซื้ออยู่แล้ว